ยูเรก้า !
ปัจจัยสี่ประการเบื้องหลังนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่
โดย คารีม อับดุล แจบบา
|
โคช จอห์น วูดเด้น |
ตอนผมเป็นนักกีฬายูซีแอลเอที่มีโคชจอห์น วูดเดิร์นเป็นผู้ฝึกสอน เขาเคยพูดไว้ว่า "ผลจะออกมาดี ก็เฉพาะกับผู้ที่เตรียมตัวอย่างดีที่สุดที่จะรับผลที่ดีนั้น" เขาไม่ได้พ่นความคิดหัวเก่าประเภทโลกสวยอย่างน้ำเหลือครึ่งแก้ว เขาไม่คิดว่าเราจะชนะระดับชาติได้โดยการจ้องมองโปสเตอร์ของลูกแมวที่ถูกห้อยอยู่บนราวตากผ้า มีข้อความว่า "ห้อยอยู่ตรงนั้นแหละ ไอ้หนู" การคิดบวกนั้นสำคัญ แต่แค่นั้นมันไม่เพียงพอที่จะทำให้เราไปถึงเป้าหมายได้ เขารู้ว่าการทำอะไรให้สำเร็จได้มันต้องผ่านขั้นตอนการสังเกต จินตนาการ ตั้งใจจริง และมีวินัย.
ตอนที่ผมเขียนหนังสือชื่อ "โลกของฉันสีอะไร - หน้าที่หายไปของประวัติศาสตร์นักประดิษฐ์แอฟริกัน-อเมริกัน" ผมพบว่า คุณสมบัติที่คล้ายคลึงกันในหมู่นักประดิษฐ์ทั้งหลายคือ การต้องเจอกับอุปสรรคหลายประการก่อนที่งานประดิษฐ์ของเขาจะประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ก็ยังต้องพบกับการอคติจากสังคมรอบตัวในตอนแรก ๆ ที่รับรู้ความสำเร็จของพวกเขา เหตุผลที่ใช้คำว่า "หน้าที่หายไปของประวัติศาสตร์" ก็เพราะสีผิวของพวกเขาถูกกระแสหลักของสังคมปิดกั้นการยอมรับและผลักพวกเขาให้ไปอยู่ด้านหลังของรถโดยสารแห่งประวัติศาสตร์ การปฏิบัติเช่นนี้อาจทำให้คนบางส่วนท้อและถอนตัวออก แต่ไม่ใช่กับกลุ่มนักประดิษฐ์เหล่านี้ พวกเขาได้ "ทำให้สิ่งประดิษฐ์ของเขามีความเป็นเลิศ"
|
จอร์จ เดอ เมสทรัล ผู้ประดิษฐ์เวลโคร |
คุณสมบัติข้อแรกที่นักประดิษฐ์ต้องมีคือ "ความช่างสังเกต" หลายคนคิดว่าตัวเองเป็นคนช่างสังเกต แต่ความจริงมันมีความแตกต่างกันมากระหว่าง "การมองเห็น" และ "ความช่างสังเกต" คนส่วนมากเห็นโอกาสที่จะต่อรองได้ดีเวลาหาซื้อของในห้าง โดยไม่ให้ถูกตอบโต้กลับ หรืออาจเฝ้าดูเด็กไม่ให้เล่นออกนอกถนน พวกเขาเห็นเท่าที่จำเป็นในภารกิจเฉพาะหน้า ซึ่งเชอร์ล็อกโฮล์มเห็นแบบแตกต่างออกไป เขาเห็นรายละเอียดทุกอย่างและเข้าใจความหมายของแต่ละรายละเอียด นี่คือความช่างสังเกต ซึ่งจะต้องมองให้เห็นองค์ประกอบเล็ก ๆ อย่างในกีฬาบาสเกตบอลก็เช่นกัน ผู้เล่นจะต้องไม่เพียงมองเห็นผู้เล่นคนอื่น ๆ ยืนอยู่ตำแหน่งไหน เขาจะต้องเห็นท่าทางของแต่ละคนว่ามือของพวกเขากำลังทำอะไร สายตาเขามองไปที่ไหน สามารถแปลความหมายได้ภายในอีกสามวินาทีข้างหน้า ตัวอย่างที่ดีของงานประดิษฐ์ที่มาจากความช่างสังเกตคือ เจ้าของสินค้า "เวลโคร" ซึ่งเป็นชื่อแบรนด์ของผลิตภัณฑ์ประเภท "แถบขอเกี่ยวกับห่วง" (หรือตีนตุ๊กแก หรือ แถบหนามเตย) ที่ใช้ประกอบกับสินค้ากันตั้งแต่ผ้าอ้อมยันรองเท้าบู๊ททหารและชุดนักบินอวกาศ เวลโครได้ชื่อว่าเป็นคำตอบกับปัญหาในชีวิตประจำวันมากมายหลายประการ แต่ต้นกำเนิดความคิดของเวลโครนั้นไม่ได้เกิดขึ้นในห้องแล็บ ความจริงมันเกิดจากแรงบันดาลใจของวิศวกรชาวสวิสที่เป็นคนชอบการล่าสัตว์ เชาชื่อจอร์จ เดอ เมสทรัลกับสุนัขของเขาตอนไปล่าสัตว์แถบเทือกเขาแอลป์ในปี พ.ศ.๒๔๘๔
หลังจากกลับจากการล่าสัตว์ เดอ เมสทรัลสังเกตเห็นหญ้าเจ้าชู้เกาะติดตามเสื้อผ้าและขนสุนัขของเขา เขาสงสัยว่าเป็นเวลานับศตวรรษที่คนเดินผ่านหญ้าเจ้าชู้เหล่านี้ และในขณะที่แกะหญ้าเจ้าชู้ออกก็บ่นไป แต่ไม่เคยคิดสงสัยว่ามันมาติดเสื้อผ้าเขาได้อย่างไร องค์ประกอบหลักของความช่างสังเกตคือขี้สงสัย ซึ่งเป็นบ่อเกิดของความปรารถนาที่จะรู้ความจริงที่อยู่เหนือความรู้เก่า ๆ เดอ เมสทรัลเอาหญ้าเจ้าชู้มาส่องด้วยกล้องจุลทัศน์และเห็นว่าเมล็ดหญ้าเจ้าชู้แต่ละเมล็ดมีขอเกี่ยวนับร้อยขอที่พร้อมจะเกี่ยวเข้ากับวัสดุอะไรก็ตามที่มีห่วงอยู่อย่างเช่นผ้าและขนสัตว์
อีกหนึ่งตัวอย่างของความช่างสังเกตที่มีผลเปลี่ยนโลกคือ อเล็กซานเดอร์ เฟรมมิ่งในการค้นพบเพนนิซิลีน (ยาปฏิชีวนะ) ซึ่งในตอนแรกเขาเรียกมันว่า "น้ำรา" ในปี พ.ศ.๒๔๗๑ เขากลับจากพักร้อน มาที่ห้องแล็บที่รกรุงรังและพบเชื้อราที่แพร่ขยายอยู่บนจานเพราะเชื้อแบคทีเรีย เขาแปลกใจมากที่สังเกตเห็นว่าเชื้อราเหล่านั้นฆ่าแบคทีเรียในจานทดลองจนหมด การค้นพบนี้ได้ช่วยชีวิตคนนับล้าน แต่นี่ไม่ใช่การค้นพบครั้งแรกเพราะเมื่อ ๓๒ ปีก่อนหน้านั้น นักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศส เออร์เนสต์ ดูเชส์นีเมื่อตอนอายุเพียง ๒๓ ปี จากการสังเกตการทำงานในโรงพยาบาลทหารที่ ๆ เขาทำงานว่า เด็กเลี้ยงม้าตั้งใจเลี้ยงเชื้อราบนบังเหียนม้าโดยเก็บบังเหียนม้าไว้ในที่มือ เด็กเลี้ยงม้ารู้ดีว่าเชื้อราพวกนี้ใช้รักษาอาการแผลกดทับจากการขี่ป้า ข้อสังเกตนี้เป็นเหตุให้ดูเชส์นีทำการวิจัยเพื่อระบุสายพันธ์เชื้อราและสรุปไว้ว่ามีฤทธิ์ต้านไทฟอยด์และอีโคไล.
|
อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิ่ง ผู้ค้นพบยาปฏิชีวนะ |
จินตนาการคือคุณสมบัติข้อที่สองของนักประดิษฐ์ ทั้งนี้เพราะจินตนาการช่วยให้มองเห็นแนวทางที่จะนำเอาข้อสังเกตที่เกิดขึ้นไปใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ได้ อย่างเช่นหญ้าเจ้าชู้นำไปสู้แถบรัดของ เชื้อราไปสู่ยารักษาโรค ความช่างสังเกตทำให้คนพูดว่า "เรื่องนี้น่าสนใจ" และจินตนาการพาเขาไปสู่ความคิดที่ว่า "แล้วถ้าเรื่องน่าสนใจนี้เอาใช้ทำ....จะเกิดอะไรขึ้น?" คำอธิบายที่ดีที่สุดสำหรับหัวข้อจินตนาการคงเป็นจากภาพยนตร์เรื่อง "THEY MIGHT BE GIANTS" ที่เขียนโดย เจมส์ โกลด์แมนที่บรรยายว่า จอร์จ ซี.สก๊อตให้คำอธิบายสาเหตุที่ดอน กิโฆเตคิดถูกว่า "แน่นอน เขามองไปไกลกว่านั้น เขาคิดว่ากังหันลมคือยักษ์ นั่นฟังดูเหมือนคนบ้า แต่ถ้าเราลองคิดว่ามันเป็นอะไรได้บ้าง.. ก็เหมือนพวกเราที่จิตปกติ เมื่อก่อนยังเคยคิดว่าโลกแบน แต่พอเราคิดว่า แล้วถ้ามันไม่แบนล่ะ ถ้ามันกลมล่ะ และเชื้อราบนขนมปังล่ะ จะทำเป็นยาได้ไหม ถ้าเรามองไม่เคยสิ่งต่าง ๆ แล้วลองคิดว่ามันเป็นอะไรได้บ้าง ทำไมเป็นอย่างนั้น พวกเราเดี๋ยวนี้ก็คงอยู่ในป่าไม่ต่างจากลิง"
จินตนาการคือปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้โจเซฟ ลี หนึ่งในนักประดิษฐ์ผิวดำอัฟริกันอเมริกันที่ผมเขียนถึงในหนังสือของผม เป็นนักประดิษฐ์ที่ประสบความสำเร็จ ลีเป็นเจ้าของโรงแรมและผู้ผลิตอาหาร เขาพยายามหาทางใช้ประโยชน์จากขนมปังหมดอายุที่ต้องทิ้งลงถังขยะทุกวัน เขารู้สึกเสียดายขนมปังเหล่านั้นที่ต้องถูกทิ้งไปเป็นจำนวนมาก เขาจึงคิดสร้างเครื่องจักรเพื่อผลิตเกร็ดขนมปังที่ภัตตาคารต่าง ๆ ใช้ในการชุบเนื้อปลา เนื้อสัตว์อื่น ๆ และขนมเค้ก ไม่นานต่อมาสิ่งประดิษฐ์ของเขากลายเป็นส่วนประกอบสำคัญของครัวในภัตตาคารทั่วโลก ก่อนหน้านี้คนไม่รู้กี่หมื่นกี่พันคนโยนขนมปังทิ้งทุกวันเป็นจำนวนกี่ตัน จนกระทั่งคน ๆ หนึ่งมีจินตนาการที่ดีกว่า.
|
ดอน กิโฆเต กับยักษ์กังหันลม |
ในโลกการกีฬา เราให้ความสำคัญกับความจริงจังในเกือบทุกเรื่อง "คุณจะจริงจังกับทีมของเราได้ไหม" โคชอาจตั้งคำถามนี้กับนักกีฬาของเขา "ฉันจะเล่นกีฬาประเภทนี้จริงจังตลอดไปหรือไม่" นักกีฬาอาจถามตัวเอง เวลาทำเรื่องอะไรที่ง่าย ๆ คนเรามักจะยังนึกสนุกกับมัน แต่พอมันเริ่มจริงจังขึ้นคนส่วนใหญ่จะเริ่มถอย ผมเห็นนักกีฬาบาสเก็ตบอลหลายคนมีทักษะการเล่นดีเป็นธรรมชาติ แต่หลายคนก็ดีได้ไม่นาน ทั้งนี้เป็นเพราะพวกเขาขาดความจริงจัง เพราะความจริงจังนี้เป็นบ่อเกิดของความพยายาม "เพราะมีผู้ไม่ยอมแพ้แม้ถูกหยัน" (อ้างอิงดอน กีโฆเตอีกครั้งในเพลงประกอบ "ความฝันอันสูงสุด" (The Impossible Dream)).
สำหรับนักประดิษฐ์แล้ว ความจริงจังหมายถึงการไม่ท้อถอยต่ออุปสรรคต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามาระหว่างจุดของการเริ่มสังเกตเห็นและจุดที่นำไปปฏิบัติจริง จำเรื่องของจอร์จ เดอ เมลทรัลที่ประดิษฐ์แถบรัดหนามเตยยี่ห้อ "เวลโคร" ได้ไหม เริ่มจากวันที่เขาสังเกตเห็นหญ้าเจ้าชู้ที่ติดมากับเสื้อผ้าของเขา เขาต้องใช้เวลาถึงแปดปีกว่าจะแปรเปลี่ยนข้อสังเกตนั้นเป็นสิ่งประดิษฐ์ได้.
|
แกร์เรตต์ มอร์แกน นักประดิษฐ์ผิวดำที่ยิ่งใหญ่ |
ความจริงจังอาจทำให้นักประดิษฐ์มีความเสี่ยงต่อสุขภาพหรืออาจถึงชีวิตได้ ทั้งนี้เพื่อพิสูจน์ว่าสิ่งประดิษฐ์นั้นใช้ได้จริง ตัวอย่างที่ผมชอบคือนักประดิษฐ์อัฟริกันอเมริกันแกร์เร็ต มอร์แกน เขาสามารถประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ ๆ มากมายในนามของเขา ซึ่งรวมถึงสัญญานไฟจราจร น้ำยายืดผม และต้นตำหรับหน้ากากกันแก็ซพิษ ซึ่งมีลักษณะเป็นอุปกรณ์ครอบศรีษะขนาดใหญ่มีสายท่อยาวถึงพื้นสองท่อที่ต่อมาจากหน้ากาก เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เอาไว้ช่วยคนที่ติดในบริเวณที่มีไฟไหม้ ด้วยเหตุที่แกร์เร็ตเป็นคนผิวดำ ปัญหาอุปสรรคที่จะขายสิ่งประดิษฐ์ของเขาให้แก่แผนกอัคคีภัยจึงมีอยู่มากมาย อย่างไรก็ตาม ในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ มอร์แกนถูกเรียกตัวไปพบทีสถานีตำรวจ ตอนนั้นมีคนงาน ๓๒ คนติดอยู่ในอุโมงค์ใต้ทะเลสาบเอรี่ แก็ซพิษที่ฟุ้งกระจายในอุโมงค์ทำให้เป็นไปไม่ได้ที่จะส่งคนเข้าไปให้ความช่วยเหลือคนงานเหล่านั้น มอร์แกนโยนชุดหน้ากากกันควันพิษขึ้นบนรถกระบะ เขาเป็นคนดำคนแรกที่สามารถหาซื้อรถมาใช้ได้ แล้วไปรับแฟรงค์น้องชายของเขา เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุมีเพียงแกร์เรตต์ แฟรงค์ กับผู้ที่เชื่อในประดิษฐกรรมของเขาอีกสองคนที่ยอมสวมหน้ากากป้องกันควันพิษ แล้วคลานเข้าไปในอุโมงค์จนพบและช่วยเหลืออาคนงานที่ได้รับบาดเจ็บคนแรก นักผจญเพลิงที่เหลือยังลังเลที่จะใช้อุปกรณ์กันควันพิษจนเห็นว่าพวกของแกร์เรตต์สามารถช่วยชีวิตคนงานที่ติดอยู่ในอุโมงค์ออกมาได้อีกหนึ่งคน เมื่อเสร็จสิ้นการปฏิบัติการครั้งนั้น เขาสามารถช่วยชีวิตคนงานได้ ๒๙ คน แม้สองพี่น้องมอร์แกนกับหน้ากากกันพิษของเขาสร้างวีรกรรมอันน่าทึ่ง แต่หนังสือพิมพ์ของเช้าวันรุ่งขึ้นกลับไม่มีการรายงานถึงปฏิบัติการของพี่น้องผิวดำมอร์แกน แม้กระนั้นก็ตามมอร์แกนก็ยังคงยึดมั่นกับประดิษฐกรรมของเขาและในที่สุดสามารถขายมันให้กับศูนย์อัคคีภัยทั่วประเทศ
ตอนที่ผมเริ่มเล่นบาลเก็ตบอล ผมเป็นนักบาสที่สูงที่สุดในกลุ่มเพื่อนที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ทุกคนคิดว่าผมจะเล่นบาสได้ดีโดยปริยาย แต่ความจริงไม่เป็นอย่างนั้น ผมผอมและแก้งก้างมากเหมือนสุนัขเกรฮาวด์วิ่งบนพื้นที่เพิ่งลงแวกซ์ขัดพื้น ผมต้องใช้เวลาเป็นปีฝึกหัดให้มีทักษะและความมั่นใจที่จะเล่นบาสเก็ตบอลในระดับสูง เพราะฉะนั้นความสูงอาจส่งผมเข้ามาอยู่ในทีม แต่วินัยคือสิ่งที่ช่วยให้ผมคงอยู่ร่วมกับทีมได้ นักกีฬาหลายคนทั้งที่เป็นระดับมัธยม มหาวิทยาลัย และมืออาชีพ เบื่อหน่ายการฝึกและซ้อมอย่างหนักซึ่งนับเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาทักษะ แต่พวกเขาก็ยังคงต้องกลับมาฝึกซ้อมเพราะต้องรักษาวินัยเพื่อผลที่จะเกิดขึ้นอย่างที่เขาพึงพอใจในอนาคต พูดถึงวินัยผมมีตัวอย่างที่ชอบมากตัวอย่างหนึ่งของนักประดิษฐ์ ซึ่งต่อไปนี้เป็นเกร็ดประวัติที่เล่าโดยวอลเตอร์ เอส.มัลลอร์รี่่ี่เพื่อนเก่าแก่คนหนึ่ง ถึงโธมัส เอดิสัน ในหนังสือชีวประวัติของเอดิสันชื่อ ชีวิตและผลงาน เขาเขียนว่า "ผมเจอเขานั่งอยู่บนเก้าอี้ยาวที่มีความกว้าง ๓ ฟุตและยาวประมาณ ๑๕ ฟุต บนเก้าอี้ยาวนั้นมีจานทดลองเซลส์ที่ทำปฏิกริยากับสารเคมีต่าง ๆ นับร้อยจาน เขานั่งอยู่บนเก้าอี้ยาวนั้นเพื่อทดลอง ทบทวน และวางแผน ผมจึงได้รู้ว่าเขาได้ทำการทดลองเก้าพันครั้งเพื่อที่จะสร้างกล่องเก็บพลังงานแบตเตอรี่ แต่การทดลองทั้งหมดก็ไม่สามารถทำให้เขาประสบความสำเร็จในการสร้างกล่องแบตเตอรี่ได้ พิจารณาจากปริมาณแรงงานและความคิดที่ทุ่มเทลงไปกับการทดลอง ผมก็รู้สึกเห็นใจเขาและตั้งคำถาม ๆ เขาว่า 'มันน่าเสียใจกับแรงงานมหาศาลที่ทุ่มเทให้กับการทำงานนี้ แล้วยังไม่ได้ผลลัพธ์อะไรนะครับ' เอดิสันตอบกลับพร้อมรอยยิ้มทันทีว่า 'ผลลัพธ์.. ทำไมเหรอ ผมได้ผลลัพธ์เยอะแยะไปหมด ผมได้เรียนรู้วิธีที่ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ผิดเป็นพัน ๆ วิธี.' "
|
โธมัส เอดิสัน ผ่านความล้มเหลวนับพันครั้งก่อนจะสำเร็จ |
วินัยที่ทำให้คนยังกลับมาลองทำดูครั้งแล้วครั้งเล่า แม้จะทำไม่สำเร็จนับพันครั้ง คือวินัยที่แยกความแตกต่างระหว่างคนที่ประสงความสำเร็จกับคนที่ต้องการเป็นนักประดิษฐ์
คุณเคยสังเกตหรือไม่ว่ามีคนพูดว่า "ผมเคยมีความคิดนี้มาก่อน.. ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว" ความคิดนั้นอาจเป็นจริง พวกเราหลาย ๆ คนอาจมีความคิดที่เข้าท่า ที่จะพัฒนาต่อไปเป็นนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ และในที่สุดสามารถจำหน่ายในตลาดสร้างมูลค่าได้นับล้านดอลล่าร์ให้กับคนอื่น ก็อย่างที่ได้อ่านมาตั้งแต่ต้นแล้ว ความคิดที่เกิดขึ้นมานั้นเป็นส่วนที่ง่ายที่สุดของขั้นตอนทั้งหมด การที่จะเปลี่ยนแปรความคิดนั้นให้เป็นนวัตกรรมจะต้องใช้ความพยายามมากกว่าการอุทาน "อะฮ่า!" คุณยังต้องเป็นคนช่างสังเกต มีจินตนาการ ตั้งใจจริง และมีวินัยเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยม.