Thursday, May 21, 2015

แนะนำบุคคลสำคัญในที่ประชุม


การแนะนำบุคคลสำคัญในการประชุมต่าง ๆ

ไม่ว่าจะเป็นการประชุมแบบพิธีการหรือไม่ก็ตาม หากมีผู้เข้าร่วม ที่เป็นแขกผู้มีเกียรติวิทยากร ผู้บรรยาย ผู้อภิปราย ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นต้น จะต้องมีการแนะนำบุคคลเหล่านี้ต่อผู้เข้าร่วมประชุมอื่น ๆ ก่อน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้จักและความสนใจในเบื้องต้นให้แก่ผู้ฟัง เพื่อทราบรายละเอียดว่าบุคคลผู้นั้นเป็นใคร มาจากไหน มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญทางด้านใด ทราบซึ่งจะเป็นหน้าที่ของพิธีกร โฆษก หรือผู้ดำเนินรายการประชุมในครั้งนั้น ๆ และมีหลักในการแนะนำที่ควรรู้ ดังนี้

1. ต้องแนะนำใคร
บุคคลที่นักประชาสัมพันธ์ต้องแนะนำ ได้แก่ ผู้กล่าวรายงาน ประธานในพิธี ผู้กล่าวต้อนรับ ผู้กล่าวคำปราศรัย ซึ่งบุคคลเหล่านี้มีความเด่น ความสำคัญอยู่ในตัวแล้ว ดังนั้นจึงสามารถแนะนำแต่เพียงชื่อและตำแหน่ง
นอกจากนี้ ประธานในที่ประชุมของหน่วยงาน ประธานการเสนอผลงานวิจัย ประธานการเสนอผลการอภิปรายกลุ่มย่อย ล้วนเลือกมาจากบุคคลสำคัญและผู้ทรงคุณวุฒิที่รู้จักกันดีในวงการเช่นกัน และท่านเหล่านี้ทำหน้าที่ดำเนินการประชุมมิใช่เป็นวิทยากร ฉะนั้นจึงมักจะแนะนำเฉพาะชื่อและตำแหน่งเท่านั้น
ฉะนั้น จะมีเพียงผู้บรรยายสรุป องค์ปาฐก และผู้ดำเนินการอภิปรายเท่านั้น ที่ต้องแนะนำทั้งชื่อ ตำแหน่ง ประวัติ และผลงาน (บุญศรี ปราบณศักดิ์, 2538, หน้า 112)
2. แนะนำทำไม
การแนะนำบุคคลมีจุดมุ่งหมายในการให้รายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลนั้น เพื่อกระตุ้นให้ผู้ฟังเกิด ความสนใจ และเลื่อมใสศรัทธาในบุคคลที่ได้รับการแนะนำ ขณะเดียวกันการแนะนำยังสร้างความมั่นใจ กำลังใจ และภาคภูมิใจในตัวบุคคลผู้ถูกแนะนำ (วิรัช ลภิรัตนกุล, 2543, หน้า 146)
อาจกล่าวได้ว่า การแนะนำบุคคลมีจุดประสงค์เช่นเดียวกับการแนะนำให้บุคคลรู้จักกันในวงสังคม เป็นการชักนำให้ผู้พูดและผู้ฟังใกล้ชิดกัน พร้อมทั้งสร้างบรรยากาศความอบอุ่น ความเป็นมิตรให้แน่นแฟ้นขึ้น กล่าวโดยสรุป การแนะนำจึงทำให้ผู้พูดอยากพูด และผู้ฟังอยากฟัง
3. แนะนำอะไร

 เมื่อเริ่มต้นแนะนำบุคคลต้องกล่าวถึงหัวข้อการบรรยายอย่างถูกต้อง ความสำคัญของการพูด เพื่อเชื่อมโยงระหว่างบุคคลกับความสนใจของผู้ฟัง เป็นการกล่าวถึงโอกาสและความจำเป็นในการพูด
แนะนำบุคคล โดยบอกถึงคุณวุฒิอันโดดเด่นของบุคคล โดยเฉพาะในส่วนของหัวข้อ และประกาศชื่อ นามสกุล ยศ ตำแหน่ง สถานที่ทำงาน การศึกษา ผลงาน และประสบการณ์โดยเฉพาะในส่วนของหัวข้อ ตลอดจนเกียรติประวัติ อย่างแจ่มแจ้งถูกต้อง (ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์, 2548, หน้า 36)

4. เตรียมข้อมูลในการแนะนำอย่างไร
 การหาข้อมูลของบุคคลที่ต้องแนะนำ อาจทำโดยการจัดทำแบบกรอกข้อมูลส่งให้บุคคลดังกล่าวกรุณาช่วยตอบกลับล่วงหน้า หรือขอข้อมูลจากเลขานุการ (ถ้ามี) และถ้าเป็นไปได้ควรหาโอกาสพูดคุยสนทนากับบุคคลดังกล่าว เพื่อขอความเห็นว่าอยากให้แนะนำในเรื่องใด แนวใด สนทนาถึงประสบการณ์ของเขาในเรื่องที่พูด เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สำคัญโดดเด่นเป็นประโยชน์ต่อการแนะนำ

5. หลักการเขียนแนะนำ
เมื่อได้ข้อมูลและตัดสินใจแล้วว่าจะใช้ข้อมูลใดบ้างในการแนะนำ ควรเริ่มเขียนร่างคำกล่าวแนะนำ โดยมีหลักการเขียนดังนี้
5.1 สั้นแต่มีสาระสำคัญครบถ้วน เพื่อให้แนะนำได้ภายในเวลาไม่น้อยกว่า 20 วินาที แต่ไม่ควรยาวเกินกว่า 2 นาที ยิ่งผู้พูดเป็นบุคคลสำคัญ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักดีเพียงใด คำแนะนำจะยิ่งสั้นเพียงนั้น (บุญศรี ปราบณศักดิ์, 2538, หน้า 118)
5.2 แนะนำด้วยความจริงใจ ไม่ยกยอมากเกินไป จนทำให้บุคคลผู้ถูกแนะนำรู้สึกขวยเขิน หรือผู้ฟังรู้สึกอึดอัดหรือหมั่นไส้
5.3 ไม่ควรแนะนำเรื่องส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่พูด
5.4 การแนะนำชื่อผู้พูดมักกล่าวชื่อผู้พูดก่อน แล้วตามด้วยประวัติและผลงาน แต่สำหรับชาวตะวันตกนิยมกล่าวถึงประวัติและผลงานก่อน แล้วจึงลงท้ายด้วยชื่อ
(บุญศรี ปราบณศักดิ์, 2538, หน้า 112)
ที่มา: http://www.gotoknow.org/posts/291246

Tuesday, May 19, 2015

MEETING ON THE GO


สโมสรโรตารีประชุมบนรถไฟ
โดย ดีภัก ชิคาร์ปูร์ (อดีตผู้ว่าการภาค)

RI District 3131 DG Vivek Aranha addressing a club meeting inside the Deccan Queen.
Also seen are PDG Dr Deepak Shikarpur, Director Club Extension
Pankaj Shah and President of the club Rajan Mathrawala.

เส้นทางรถไฟสายเดกคันควีนเอ็กเพรส ของอินเดียที่เชื่อมมุมไบกับพูน คือภาหนะที่สมาชิกสโมสรโรตารีพูนเดกคันควีนใช้เป็นสถานที่ประชุมประจำสัปดาห์ นี่อาจเป็นที่ประชุมของสโมสรโรตารีแห่งเดียวในโลกก็ได้ที่จัดกันบนรถไฟ
เดกคันควีนคือรถไฟสายยอดนิยมที่มีเที่ยวเดินทางทุกวันที่นำผู้โดยสารนับพันคนเดินทางระหว่างสองเมือง แนวความคิดการจัดประชุมบนรถไฟเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๕ แต่เนื่องจากเส้นทางนี้ผ่านภาคโรตารีสองภาค จึงต้องใช้เวลาพิจารณาก่อนตัดสินใจว่าสโมสรนี้ควรอยู่สังกัดภาคใด และสุดท้ายก็ไปลงที่ภาค ๓๑๓๑ (ซึ่งรวมเมืองพูนไว้ด้วย)
ทุกวันพฤหัสบดี สมาชิกที่มีตั๋วรถไฟจะรวมตัวกันในห้องโดยสารพิเศษของรถไฟ และมักจะได้ผู้โดยสารอันทรงเกียรติเป็นผู้บรรยายพิเศษให้แก่สมาชิกที่ขณะนี้มีอยู่ ๒๕ คน  เราทำโครงการบำเพ็ญประโยชน์ให้กับชุมชนด้วยเช่นกัน เช่นเราจัดแคมป์ตรวจสุขภาพสำหรับพนักงานรถไฟ และช่วยปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในสถานีรถไฟพูน  นอกจากนี้เรายังเริ่มจัดให้มีกิจกรรมสังสรรค์ในเมืองเพื่อให้สมาชิกนำครอบครัวมาร่วมสนุกในกิจกรรมของโรตารีด้วยได้  


ROTARY CLUB MEETS ON A TRAIN
By Deepak Shikarpur, Past District Governor


On the Deccan Queen Express, an Indian passenger train that connects Mumbai with Pune, members of the Rotary Club of Pune Deccan Queen conduct their weekly meeting.  It may very well be the only Rotary club in the world that meets on a train.
The Deccan Queen is one of the most popular trains in the sector and a daily means of transportation for thousands commuting between the two cities.  The idea was first proposed in 2012, but since the route crosses through two Rotary districts, it took a while to reach agreement the club would be considered to meet in District 3131 (which includes Pune).
Every Thursday, members get together in a special car for pass holders.  There are 25 members at the moment, and prominent citizens traveling on the train are invited as speakers.  We have conducted community service projects including health checkup camps for train porters and railway staff, and made infrastructure improvements to the station in Pune.  We are planning to begin monthly fellowship meetings in the city so members can bring their family and they, too, can experience the joy of Rotary.

Friday, May 15, 2015

ขันติธรรม


สาระน่ารู้ในโรตารี
เรื่องที่ ๙ ความอดทนในความแตกต่าง
ขันติ หรือความอดทนคือคุณธรรมสำคัญข้อหนึ่งในจิตวิญญานขององค์กรโรตารี  ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๔ พอล แฮร์รีส ผู้ก่อตั้งโรตารีเขียนในบทความที่ชื่อว่า "Rational Rotarianism" (หลักเหตุผลในหลักการโรตารี) โดยปรากฎข้อความว่า "หากวันหนึ่ง ข้าพเจ้าอยู่ตำแหน่งที่เป็นศูนย์กลางของสาขาโรตารีทั้งหลาย และมีโอกาสขึ้นกล่าวท่ามกลางสายตาของโรแทเรียนที่มาร่วมประชุมทั้งหมดโดยใช้คำพูดเพียงคำเดียว โดยมิพักต้องยั้งคิดและด้วยน้ำเสียงก้องกังวาฬ ข้าพเจ้าจะตะโกนคำว่า "จงอดทน".
พอล แฮร์รีส บิดาแห่งโรตารีของพวกเราได้เน้นย้ำว่า "โรแทเรียนเคารพความเห็นของกันและกัน และจะอดทนและแสดงความเป็นมิตรในทุกขณะเวลา  ไม่ว่าจะเป็นแคธอริค โปรแตสแตนท์ มุสลิม ยิว หรือพุทธ เรากินขนมปังแผ่นเดียวกันในโรตารี"  และด้วยขันติธรรมนี้เองที่เป็นพื้นฐานนำไปสู่คำแถลงในปี พ.ศ.๒๔๗๖ ที่ระบุว่า "โรแทเรียนในทุกประเทศต้องยอมรับข้อเท็จจริงนี้ (ในเรื่องความแตกต่าง) และควรระมัดระวังการวิจารณ์เรื่องกฎหมายและประเพณีปฏิบัติของประเทศอื่นนอกเหนือประเทศตนเอง"
ขันติธรรมคือหัวใจสำคัญในการเข้าใจความแตกต่างของผู้คนและประเทศต่าง ๆ

แปลและเรียบเรียงจากหน้าเว็บไซท์ ๑๐๑ เรื่องน่ารู้ในโรตารี 
http://rotary1.org/category/101-things-list/



Tolerance is one of the most important virtues in the Rotary spirit. As early as 1911 our founder Paul Harris in his essay “Rational Rotarianism” said, “If by interposition of Providence I someday were to find myself standing on a platform in some great Coliseum looking into the eyes of every living Rotarian, and were to be told that I could have one word to say, without an instant’s hesitation and at the top of my voice, I would shout ‘Toleration!’”
Our founder Paul Harris has repeatedly iterated: “Rotarians respect each other‘s opinions and are tolerant and friendly at all times. Catholics, Protestants, Moslems, Jews, and Buddhists break bread together in Rotary.” And it is this tolerant attitude that prompted the Rotary International to adopt the following statement in 1933: “Rotarians in all countries should recognize these facts (differences), and there should be a thoughtful avoidance of criticism of the laws and customs of one country by the Rotarians of another country.” Tolerance is a key to understanding among different peoples and nations.

Friday, May 8, 2015

คุณภาพคน คุณภาพประเทศ

ดูตัวอย่างความพยายามสร้างประเทศผ่านการสร้างเยาวชนที่มีคุณภาพ จากโครงการ No Kid Hungry จัดสรรอาหารเช้าที่มีความสำคัญต่อสุขภาพเยาวชนในประเทศสหรัฐอเมริกา 

ดาราภาพยนต์ฮอลิวู้ด เจฟฟ์ บริดเจส และบิลลี่ ชอร์ ช่วยกันทำโครงการอาหารเช้าให้เด็กอเมริกัน



เจฟฟ์ บริดเจส กับ บิลลี่ ชอร์
ชาติที่มั่งคั่งที่สุดในโลก 
กระนั้นยังไม่สามารถป้อนอาหารให้เพียงพอ
ที่จะหยุดความหิวโหย
โดย เควิน คุก

สามสิบก่อน บิลลี่ ชอร์นั่งบีบแตรอยู่ในรถท่ามกลางสภาพการจราจรที่คับคั่งของกรุงวอชิงตัน ดีซี  เขาเป็นนักการเมืองหนุ่มไฟแรง และเร่งทำงานเพื่อช่วยผู้คนและหวังจะทำให้โลกนี้ดีขึ้น เขามุ่งมั่นที่จะช่วยเจ้านายของเขาซึ่งขณะนั้นเป็นวุฒิสมาชิกที่มีอุดมการณ์สูงส่งจากรัฐโคโลราโดชื่อ แกรี่ ฮาร์ท เพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในสมัยที่กำลังจะมาถึง แต่ความหวังนี้พังทลาย หายวับไปทันทีที่มีข่าวแพร่ออกมาถึงพฤติกรรมทางเพศของแกรี่ ถึงกระนั้นก็ตามสภาพการจราจรในวันนั้นก็ส่งผลให้เกิดอะไรดี ๆ บางอย่างให้เกิดขึ้นกับโลกใบนี้
ตอนที่ติดอยู่บนถนน ชอร์เหลือบเห็นข่าวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับความอดอยากในแอฟริกาที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้วงดนตรีป๊อปชื่อดัง "แบนด์เอด" บันทึกเพลง "Do they Know It's Christmas? (พวกเขารู้ไหมว่าวันคริสต์มาถึงแล้ว)" แล้วสามารถหาทุนจากเพลงนี้ได้ถึง ๒๔ ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อนำเงินไปใช้บรรเทาความหิวโหยของคนในแอฟริกา และนักดนตรียังไม่หยุดแค่นั้น เขายังตรึงความสนใจของชาวโลกไว้กับพวกเขา ชอร์ได้อ่านบทความนั้นจนจบ เขารู้แล้วว่าแตรที่บีบต่อไปนั้นไม่ใช่บนนถนนที่มีการจราจรคับคั่งนี้ แต่เขาจะกดแตรเพื่อขับไล่ความยากจน
ชอร์กับน้องสาว เดบบี้ร่วมกันก่อตั้งองค์กรการกุศลที่ชื่อว่า "ร่วมพลังกับเรา (Share Our Strength)" ในปี พ.ศ.๒๕๒๗ ด้วยเงินที่กดจากบัตรเครดิตของชอร์ แล้วก็เริ่มสุ่มโทรศัพท์ขอเงินบริจาคจากบรรดาวุฒิสมาชิก ซีอีโอบริษัทใหญ่ ๆ  และพวกดาราที่อยู่ในแคปปิตอลฮิล มีนักเขียนคนหนึ่งร่วมลงขัน เขาคือสตีเว่น คิง  พี่ ๆ น้อง ๆ ของเขาก็ช่วยกันหาทุนเพื่อเป็นทุนในการตั้งธนาคารอาหารหรือมอบให้องค์กรการกุศลอื่น ๆ ทั่วโลก  แต่ไม่นานนักพวกเขาก็รู้สึกว่าการทำงานไม่ได้คืบหน้านัก  "วิธีการของเราชัดเจน ง่าย แต่มันเป็นวิธีที่ผิด" ชอร์เล่าความทรงจำของเขา
ปัญหาคือ ความหิวโหยนั้นเป็นอาการหนึ่งที่แสดงออกมาจากปัญหาที่ใหญ่กว่า นั่นคือความยากจน  การยื่นอาหารให้คนหิวนั้นก็เหมือนกับการเอาพลาสเตอร์ปิดแผลที่ไม่ได้รักษาบาดแผล (ด้วยพลาสเตอร์) ด้วยเหตุนี้เขากับน้องสาวจึงเปลี่ยนวิธีการใหม่  ด้วยความเชื่อว่านักสู้ที่ฉลาดต้องเลือกสังเวียนที่เขาเป็นต่อ  ชอร์ในฐานะซีอีโอขององค์กรการกุศลแห่งนี้เลือกเพ่งไปที่ปัญหาความหิวโหยของเด็กในอเมริกา
จากนั้นมาโครงการ "ร่วมพลังกับเรา" ได้หาทุนมากถึง ๔๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ และนำไปใช้ในโครงการจัดหาอาหารและต่อสู่กับความยากจนในสหรัฐอเมริกา  ยูเอสนิวส์แอนด์เวิร์ลด์รีพอร์ทเสนอชื่อชอร์เป็นหนึ่งในผู้นำที่ดีที่สุดในอเมริกา ตามด้วยรายได้ของกลุ่มเพิ่มขึ้นจาก ๑๓ ล้านเหรียญในปี ๒๕๕๐ เป็น ๔๐ ล้านเหรียญ ในปี ๒๕๕๖ ชอร์เปรียบพันธกิจของเขาเหมือนเกมฟุตบอล ค่อย ๆ ชนะไปทีละสนาม จนในที่สุดบรรลุเป้าหมายแชมป์  
ของเล่นชิ้นใหญ่ที่สุดที่เขาได้มาคือการได้นักแสดงระดับรางวัลออสก้า เจฟฟ์ บริดเจสมาเป็นกองหลังของทีม โนคิดฮังกรี (ต้องไม่มีเด็กอดอยาก)  โครงการที่ช่วยป้อนอาหารให้กับนับล้านคนในโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วสหรัฐ  บุคคลิกที่เต็มไปด้วยความอบอุ่นของบริดเจสเป็นโอสถอย่างดีที่ช่วยบำบัดความหิวและเติมความรักให้กับเด็กนักเรียนประถมทั้งหลายในโครงการ แต่ก็ไม่วายจะมีเสียงส่อเสียด มีคนบางกลุ่มวิจารณ์ว่าเขาเป็นคนไม่รักชาติ ที่ออกมาเรียกร้องความสนใจจากสังคมถึงเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในสังคม แต่บริดเจสโต้ตอบว่า "นั่นเป็นความคิดที่ผิด"  เขายืนยันว่า สิ่งที่เขาทำนั้นคือ "ความรักชาติอย่างยิ่ง เพราะการปล่อยให้เด็กอเมริกันหนึ่งในห้าคนต้องต่อสู้กับความหิวโหยนั้น คือความไม่รักชาติ" บริดเจสกับชอร์ร่วมกันเล่าแบ่งปันประสบการณ์ทำงานในโครงการ "โนคิดฮังกรี" ให้กับเควิน คุ๊ก นักเขียนประจำของนิตยสารเดอะโรแทเรียน

เดอะโรแทเรียน : คุณสองคนเข้ามาอยู่ทีมเดียวกันได้อย่างไร
บริดเจส : บิลลี่กับผมพบกันเมื่อห้าปีที่แล้ว ตอนนั้นผมทำงานให้กับแนวร่วมต่อต้านความหิวโหย  เราอยู่ที่เมืองโกเลตต้า รัฐแคลิฟอร์เนีย ใกล้ ๆ กับบ้านเกิดผมที่ซานตา บาบาร่า ที่ค่ายฤดูร้อน (ที่นี่เด็ก ๆ สามารถรับแจกอาหารกลางวันได้ ตอนที่โรงเรียนปิดเทอม)  เราเริ่มจากการพูดคุยกันถึงโครงการที่เกี่ยวข้องกับเด็กหิวโหย จนถึงเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพ และสรุปร่วมกันว่าปัญหาความหิวโหยในเด็กนั้นเป็นปัญหาที่แก้ไขได้  องค์กร "โนคิดฮังกรี" ที่บิลลี่กำลังก่อตั้งขึ้นเพื่อหยุดปัญหาความหิวโหยในเด็กในประเทศอเมริกา จุดนี้เราเห็นว่าเป็นโอกาสที่เราจะทำงานด้วยกันได้ 
เดอะโรแทเรียน : ปัญหาต่าง ๆ ในโลกมีมากมายที่น่าแก้ไข ทำไมคุณเลือกปัญหานี้
ชอร์ : ตอนที่ผมกับเดบบี้เร่ิมทำโครงการ "ร่วมพลังกับเรา" และเริ่มหาทุนเข้ามาในราวกลางทศวรรษ ๑๙๘๐ เรานำเงินไปลงทุนในองค์การไม่แสวงหากำไรเพื่อต่อสู้กับความหิวโหย  ไม่นานนักเราได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจอย่างยิ่ง กล่าวคือ แม้เราตั้งใจที่จะทำให้เกิดความแตกต่าง แต่เราก็สามารถทำให้ได้มากกว่านั้น และเกิดการเปลี่ยนแปลงที่มั่นคง ด้วยการจัดทำแผนกลยุทธที่ถูกต้อง เราเชื่อว่าปัญหาเด็กหิวโหยจะหมดไปจากอเมริกา เรามีอาหารเพียงพอในประเทศนี้ ที่ต้องทำคือเชื่อมโยงเด็กที่ขาดอาหารไปสู่แหล่งอาหาร นี่คือเหตุผลที่โครงการ "โนคิดฮังกรี" เกิดขึ้น
บริดเจส :  ผมสนับสนุนงานเพื่อเด็กมามากกว่า ๓๐ ปีแล้ว  ในปี พ.ศ.๒๕๒๗ ผมเจอหน่วยงานที่ชื่อว่า เครือข่ายหยุดความหิวโหย เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่จัดหาอาหารให้เด็กทั่วโลก เราช่วยทำรายการทีวีชื่อ "เอนด์ฮังเกอร์เทเลเวนท์" (ทีวีข่าวเพื่อหยุดความหิวโหย) ถ่ายทอดสด ๆ โดยเน้นที่ปัญหาความอดอยากทั่วโลก  มีดาราดังมาร่วมรายการด้วย อาทิ เกรกอรี เปก  แจ็ค เลมมอน  เบิร์ต แลนคาสเตอร์  บ๊อบ นิวฮาร์ท  เคนนี่ ลอกกินส์ และดาราอีกหลายคน  นอกจากนี้ผมยังทำภาพยนต์เกี่ยวกับความอดอยากที่ชื่อ "ฮิดเด้นอินอเมริกา" (มันซ่อนอยู่ในอเมริกา)  มีดารานำคือ โบ เป็นพี่ชายผมเอง  จากนั้นประมาณปี ๒๕๕๑ ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจเริ่มไม่ค่อยดี ผมก็เลยต้องถอยกลับมาสนใจเรื่องปากท้องของคนแถวบ้านก่อนแทน ตอนนั้นผมหยั่งไปไม่ถึงเด็กนับล้านในประเทศมั่งคั่งนี้ ประเทศที่กินเท่าไหร่ก็ไม่พอ.
เดอะโรแทเรียน : เวลาคนอเมริกันคิดถึงความอดอยาก พวกเราคิดถึงคนหิวโหยในประเทศกำลังพัฒนา แล้วหน้าตาของเด็กหิวโหยในอเมริกาเป็นอย่างไร
ชอร์ :  ก็หน้าตาอย่างคนปกตินี่แหละ เขาอาจเป็นเด็กชายนั่งในห้องเรียนใกล้ ๆ ลูกชายของคุณ  หรือเด็กหญิงที่อยู่ในทีมฟุตบอลเดียวกับลูกสาวคุณ  พวกเขาอาจนั่งอยู่บนม้านั่งสองสามแถวห่างจากคุณในโบสถ์  เมื่อก่อนนี้กลุ่มคนยากจนรวมตัวกันอยู่ในชุมชนใกล้บ้านเรา  แต่เดี๋ยวนี้คนยากจนและคนหิวโหยอาศัยอยู่ในทุกชุมชนอเมริกัน มีทั้งในชนบท ในเมืองใหญ่และแม้แต่ในเมืองหลวง
บริดเจส :  พวกเด็ก ๆ ที่เราพยายามให้ความช่วยเหลือ อาจดูเหมือนขาดแคลน แต่พวกเขามีฝันเหมือนเด็กทั่วไป  บางคนบอกผมว่าเขาต้องการเป็นหมอ  เป็นสถาปนิก เป็นนักข่าวกีฬา หรือบางคนอยากเป็นประธานาธิบดี  นี่คือสาเหตุที่พวกเขาควรจะต้องได้รับอาหารที่ถูกสุขลักษณะทุกวัน เพื่อจะเตรียมพร้อมแข่งขันกับเด็กอื่น ๆ และทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริง
เดอะโรแทเรียน :  อุปสรรคข้างหน้ามีอะไรบ้าง
ชอร์  :  คนมักมองปัญหาความอดอยากว่าเป็นประเด็นที่ไม่มีอยู่จริง หรือไม่ก็เป็นปัญหาที่กว้างใหญ่เกินไปที่จะแก้ไขให้หมดสิ้น  ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้คนเริ่มตื่นตัวกับปัญหานี้ และถึงเวลาที่เราต้องเร่งแก้ เพื่อว่าลูกหลานของเราไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายจะได้รับอาหารที่ดีต่อสุขภาพทุก ๆ วัน  เราต้องสร้างเครือข่ายผู้นำทางธุรกิจ นักการเมือง ผู้บริหารโรงเรียน ผู้ปกครอง และผู้ให้บริการสาธารณสุข องค์กรไม่แสวงหากำไรและประชาชนผู้ใส่ใจในประเด็นนี้ ร่วมกันเสียสละเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง 
เดอะโรแทเรียน :  อะไรคือแรงกระตุ้นของคุณสำหรับงานในอนาคตอันใกล้นี้
ชอร์ :  มันเกิดจากแรงผลักดันจากทุกส่วนของประเทศ  นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๓ เด็กมากกว่าสองล้านคนอยู่ในรายชื่อของเด็กที่ได้รับอาหารเช้าที่โรงเรียน  ตอนนี้กว่าครึ่งของเด็กที่มาจากครอบครัวยากจนกำลังได้รับอาหารมื้อสำคัญของวันก่อนที่พวกเขาจะเข้าเรียน  เด็ก ๆ หาโอกาสทานอาหารเช้าแบบเต็มที่ไม่ค่อยได้เวลาโรงเรียนปิดภาคเรียน  ดังนั้นเราจึงต้องต่อสู้ผ่านสภาเพื่อผ่านนโยบายที่จะแจกจ่ายอาหารในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนด้วย
บริดเจส : ดูตัวอย่างที่ลอสเองเจิลลิส เมื่อสามปีที่แล้ว โรงเรียนในเมืองต่างผลักดันแผนตัดอาหารเช้าออกจากโรงอาหารในโรงเรียน แล้วให้มาเสริฟในห้องเรียนก่อนเข้าเรียนสักสองสามนาที ซึ่งเป็นความพยายามที่จะให้เด็กทุกคนได้รับความสะดวกในการรับสารอาหารที่เหมาะสมทุกเช้า  ตอนเริ่มแรกมีเพียงร้อยละ ๒๙ ของเด็กจากครอบครัวรายได้ต่ำเท่านั้นที่ได้ทานอาหารเช้าในโรงเรียนในเมืองลอสเองเจลลิส  เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ๙ ใน ๑๐ ของเด็กได้รับอาหารเช้าแล้ว  จากร้อยละ ๒๙ มาเป็นร้อยละ ๙๐ นั่นนับเป็นความก้าวหน้าก้าวใหญ่จากการตัดสินใจง่าย ๆ ครั้งเดียว 
เดอะโรแทเรียน :  อาหารเช้าในโรงเรียนสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นได้มากขนาดไหน
บริดเจส :  เป็นความจริงที่ว่าอาหารเช้านั้นเป็นมื้ออาหารที่สำคัญที่สุดสำหรับเด็ก  เพราะเรากำลังพูดถึงอาหารเพื่อสมอง คุณครับ เชื่อไหมว่าผมเคยได้ยินว่าอาหารมื้อสุดท้ายของเด็กนักเรียนคนหนึ่งที่มาโรงเรียนในวันนี้ คืออาหารกลางวันจากโรงเรียนเมื่อวานนี้  ถ้าเด็กนักเรียนต้องมัวพะวงกับจะหาอะไรใส่ท้อง เขาจะมีใจใส่ในบทเรียนคณิตศาสตร์อย่างไร  ครูเล่าให้พวกเราฟังว่าเด็ก ๆ ที่ท้องหิว มักมีปัญหาในการตั้งใจเรียนและมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหา หรืออาจปวดท้อง ปวดหัว ต้องไปห้องพยาบาล  ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นหากเด็กมาโรงเรียนอย่างท้องว่าง พวกเขาเรียนรู้อะไรไม่ได้มากนัก.
ตอนนี้ผมเห็นแล้วว่า เราต้องลงทุนเพื่อให้เด็กได้ทานอาหารเช้า เมื่อเด็ก ๆ มีอาหารทานเพียงพอ พวกเขาพร้อมที่จะเรียน และจะโตขึ้นเป็นคนที่แข็งแรงและมีสติปัญญา  เรื่องแรกที่เราทำได้ตอนนี้คือทำให้อาหารเช้าเป็นส่วนหนึ่งชีวิตนักเรียนในโรงเรียนโดยเฉพาะโรงเรียนของคนยากจน  อาหารเช้าไม่ควรรับก่อนมาโรงเรียน แต่ให้หลังจากที่ระฆังแรกของโรงเรียนดังแล้ว  ถ้าทำได้อย่างนี้เด็กนักเรียนไม่ต้องกลัวว่าจะมาโรงเรียนสายเพราะต้องทานอาหารเช้าที่บ้านก่อน  จะไม่มีใครดูหมิ่นนักเรียนยากจนที่ทานอาหารเช้าฟรีในโรงอาหาร แต่นักเรียนทุกคนทานเหมือนกันในห้องรวมเช้าหรือคาบแรกของการเรียน.
ชอร์ :  ข้อดีอีกอย่างคือ สิ่งที่เราทำนั้นเป็นผลดีกับระบบการเมืองของประเทศโดยรวม ความสำเร็จของเราช่วยเปลี่ยนความคิดของประชาชนที่หมดหวังในรัฐบาล  เมื่อบรรดาผู้นำช่วยเราให้เข้าถึงบรรดาเด็ก ๆ ที่เป็นประเด็นเปราะบางที่สุด มันแสดงให้เห็นว่าเราได้เข้าถึงส่วนผสมสำคัญของความฝันของชาวอเมริกัน  ความฝันที่จะทำให้คนรุ่นต่อไปมีความเป็นอยู่ดีกว่ารุ่นของเรา.
เดอะโรแทเรียน :  การต่อสู้กับความหิวโหย ตลอดเวลาที่ผ่านมา มีช่วงเวลาใดที่โดดเด่นที่สุด
บริดเจส :  ปีที่แล้วผมได้พบกับผู้บริหารสถานศึกษาต่าง ๆ ที่มาจากอาร์คันซัส  ผมกระตุ้นให้พวกเขาลองหาวิธีที่สร้างสรรค์เพื่อช่วยเด็กที่ขาดแคลนอาหารได้รับอาหารที่มีคุณค่า ผลจากการพูดคุยกัน โครงการ "โนคิดฮังกรี อาร์คันซัส" ที่มีโรงเรียนกว่า ๔๐๐ แห่งเข้าร่วมโครงการเสริฟอาหารเช้าในโรงเรียนเมื่อโรงเรียนเปิดเทอมใหม่  เด็กนับพันในรัฐนั้นได้ทานอาหารเช้าที่เหมาะสมกับวัยของเขา  ผมรู้สึกตื่นเต้นที่ทราบว่าเราได้รับการตอบรับดีที่ซานตา บาบาร่าบ้านผมด้วย เด็กที่นี่เกือบหนึ่งในสี่ต้องต่อสู้กับความหิวโหยในช่วงโรงเรียนปิดเทอม เราก็เลยเอาเด็ก ๆ มาเล่นคอนเสิร์ตในช่วงพักฤดูร้อน เพื่อให้คนตระหนักถึงความสำคัญของโครงการนี้
เดอะโรแทเรียน :  เจฟฟ์ ผมเห็นดาราส่วนใหญ่แสดงและสร้างชื่อเสียงเพื่อผลตอบแทนที่เหมาะสม  แต่คุณกระโดดข้ามออกไปตามที่ต่าง ๆ ในประเทศ คุยกับผู้บริหารโรงเรียน เทศมนตรี และผู้ว่าการรัฐ เกี่ยวกับเรื่องอาหารเช้าโรงเรียน
บริดเจส :  คือว่า ผมไม่ชอบทำอะไรแบบเหยาะแหยะ  ผมต้องการทำอะไรที่เป็นการเริ่มต้นโลกทัศน์ใหม่ ดังนั้นผมต้องกะเกณฑ์ให้ใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ  ผมมีฐานการทำงานที่ดีเพราะรู้จักกับสื่อมวลชนมาก จึงไม่แปลกที่ผมจะใช้ประโยชน์จากฐานนี้เพื่อให้ความรู้และโน้มน้าวผู้คน  ผมพบว่าบรรดาผู้บริหารโรงเรียน นายกเทศมนตรีและผู้ว่าการรัฐทั้งหมดอยากได้ยินสิ่งที่ผมจะพูด  เมื่อตอนที่ผมพบกับคุณบิลลี่ ชอร์ ผู้คนต่างแปลกใจกับความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในเมืองและรัฐต่าง ๆ และไม่มีใครอยากหลุดจากกระแสการพัฒนานี้  ผมได้พบกับผู้ว่าการรัฐมอนทานา โคโลราโด แมรีแลนด์ เวอร์จิเนีย วอชิงตัน โอเรกอน เนวาดา และอาร์คันซอ ผมหวังว่าจะได้พบกับผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย เจอร์รี่ บราวน์และนายกเทศมนตรีบิลล์ เดอ บลาซิโอ จากเมืองนิวยอร์ค เพื่อปลุกเร้าให้เขานำโครงการอาหารเช้าของเราเข้าไปสู่ห้องเรียนในชุมชนต่าง ๆ ที่เขาดูแล
เดอะโรแทเรียน :  คุณบิลลี่ ผลที่ได้จากโครงการหยุดความหิวโหยนั้นมีอะไรนอกจากจัดหาอาหารให้ประชาชนบ้าง
ชอร์ :  มีครับ  เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน  การจัดหาอาหารให้ประชาชนนั้นหยุดความหิวโหยได้มื้อหนึ่งหรือวันหนึ่ง แต่การหยุดความหิวโหยนั้นหมายถึงการจัดระบบที่มีหลักประกันว่าเด็ก ๆ จะมีอาหารที่คนต้องการรับประทานสามมื้อทุกวัน มันเป็นความแตกต่างระหว่างการใช้พลาสเตอร์ปิดแผลกับการรักษาบาดแผล
เดอะโรแทเรียน :  จะให้คนอาสามาช่วยคุณได้อย่างไร
ชอร์ :  พวกเขาสามารถเข้าไปดูรายละเอียดจากเว็บไซท์ nokidhungry.org และร่วมเป็นหนึ่งในเครือข่าย "ต้องไม่มีเด็กอดอยาก" สนับสนุนงานของโครงการ สร้างจิตสำนึกในประเด็นความหิวโหยให้แก่สมาชิกในชุมชนของเขา  ผมเชื่อว่าทุกคนทำได้



ความอดอยากในอเมริกา : มองผ่านตัวเลข
ชาวอเมริกันนับล้านครัวเรือนประสบกับความไม่มั่นคงทางอาหารในปีที่ผ่านมา นั่นหมายความว่าพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่ต้องการอย่างสม่ำเสมอ กระนั้นประเทศนี้ยังมีคนเป็นจำนวนมากมีปัญหาเป็นโรคอ้วน และอาหารเป็นจำนวนมากที่มีปลายทางที่ถังขยะ เป็นไปได้อย่างไรว่าประเทศที่อุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง ยังมีเด็กที่ขาดแคลนอาหาร เราได้เก็บตัวเลขเพื่อประกอบพิจารณาประเด็นปัญหานี้ ดังนี้

หนึ่งในเจ็ดครัวเรือนอเมริกันยังมีปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร
ในปี พ.ศ.๒๕๕๖ ร้อยละ ๑๔.๓ ของประชากรอเมริกัน หรือประมาณ ๔๙ ล้านคน นับรวมเด็ก ๑๕.๗ ล้านคน มีความลำบากในการเข้าถึงแหล่งอาหารอย่างเพียงพอ

คนอเมริกันประมาณ ๒๓.๕ ล้านคน ใช้ชีวิตอยู่ในแหล่งทะเลทรายอาหาร ครึ่งหนึ่งของคนจำนวนนี้เป็นคนยากจน  ทะเลทรายอาหารคือสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ทำให้การเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าถูกจำกัด หรือไม่มีทางเข้าถึง เพราะร้านค้าหรือร้านของชำต่าง ๆ เหล่านั้นเข้าถึงลำบากหรืออยู่ไกลเกินไป

ครัวเรือนที่ถูกรายงานว่ามีสภาพความไม่มั่นคงทางอาหารจำนวนร้อยละ ๖๙ จะต้องเลือกว่าจะเอาอาหารหรือสาธารณูปโภค  ๖๖ เปอร์เซนต์ของคนจำนวนนี้ต้องเลือกเอาระหว่างอาหารหรือยารักษาโรค

ในปีงบประมาณ ๒๕๕๖  เด็กจากครอบครัวรายได้ต่ำ ๒๑.๕ ล้านคนได้รับแจกอาหารฟรีหรือในราคาต่ำผ่านโครงการอาหารกลางวันของรัฐบาล เด็กจำนวน ๖ ใน ๗ คนจากตัวเลขนี้ไม่ได้รับแจกอาหารในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน

มลรัฐที่มีตัวเลขความไม่มั่งคงทางอาหารสูงสุด ๕ รัฐ แต่มีอัตราเด็กโรคอ้วนสูงกว่าเฉลี่ย ได้แก่รัฐมิสซิสซิปปี้ จอร์เจีย อาร์คันซอ เท็กซัส และนอร์ธแคโรไลนา ทั้งหมดนี้ยังมีปัญหาความมั่นคงทางอาหารในขณะที่เด็กโรคอ้วนมีอัตราสูงกว่าเฉลี่ยคือ ๒๗.๑ เปอร์เซนต์

ถ้าอัตราการเป็นโรคเบาหวานยังเป็นเหมือนปัจจุบัน ภายในปี พ.ศ.๒๕๙๓ คนอเมริกัน ๑ ใน ๓ คนจะเป็นโรคเบาหวาน  ผู้ป่วยโรคเบาหวานในอเมริกา ๒๖ ล้านคน มีคนที่เป็น เบาหวานประเภท ๒ ถึง ๙๐-๙๕ เปอร์เซนต์ ซึ่งหมายความว่าพวกเขาสามารถป้องกันการเกิดโรคนี้ได้โดยการทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกายและลดน้ำหนักลง

นับตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๓ ราคาพืชผักผลไม้เพิ่มขึ้น ๔๐ เปอร์เซนต์ แต่ราคาอาหารสำเร็จรูปก็ลดลงถึง ๔๐ เปอร์เซนต์  ถ้าคน ๆ หนึ่งใช้เงิน ๓ เหรียญซื้ออาหารรับประทาน เขาจะได้พลังงาน ๓,๗๖๗ แคลอรี่จากอาหารสำเร็จรูป หรือเขาจะได้ ๓๑๒ แคลอรี่จากอาหารครบหมู่

ยี่สิบปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาใช้เงินงบประมาณ ๑๙.๒ พันล้านเหรียญสนับสนุนอาหารขยะที่ผลิตจากข้าวโพดและถั่วเหลือง เช่นสารให้ความหวาน น้ำมันพืช แป้งข้าวโพด แต่แอปเปิ้ลซึ่งเป็นผลไม้ชนิดเดียวที่ได้รับเงินสนับสนุนจากงบประมาณรัฐบาล ได้รับเพียง ๖๘๙ ล้านเหรียญตลอดระยะเวลา ๑๘ ปีที่ผ่านมา

คนอเมริกัน ๑ ใน ๗ คนได้รับแสตมป์อาหาร โดยเฉลี่ยแล้วประชากร ๔๗ ล้านคนอยู่ในโครงการรับความช่วยเหลือโภชนาการอาหารเสริม (SNAP) ทุกเดือนในปี พ.ศ.๒๕๕๖  ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มโครงการในปี ๒๕๑๒ เฉพาะในช่วงระหว่างปี ๒๕๕๐ ถึง ๒๕๕๔ จำนวนผู้รับประโยชน์นี้เพิ่มสูงขึ้นถึง ๗๐ เปอร์เซนต์ และคิดเป็นเงินงบประมาณในปี ๒๕๕๖ ถึง ๗๖.๔ พันล้านเหรียญสหรัฐ


ร้อยละ ๕๘ ของครอบครัวที่รับความช่วยเหลือ SNAP มีรายได้จากการทำงานคนเดียว ครอบครัวยากจนที่ทำงานเลี้ยงตัวเองคือกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับความช่วยเหลือตามโครงการ SNAP ที่มีเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด 

ผลประโยชน์โดยเฉลี่ยจากโครงการ SNAP คือ ๑.๔๘ เหรียญต่ออาหารหนึ่งมื้อ โดยเฉลี่ยแล้วโครงการนี้ให้ความช่วยเหลือเทียบเท่าเงิน ๑๓๓ เหรียญต่อเดือนในปี ๒๕๕๖  และโดยเฉลี่ยครอบครัวที่รับประโยชน์จาก SNAP จะใช้สิทธิ ๓ ใน ๔ ภายในกลางเดือน และใช้ ๙๐ เปอร์เซนต์ภายในสามสัปดาห์
คนอเมริกันทิ้งอาหารมากถึง ๓๕ ล้านตันในปี พ.ศ.๒๕๕๕  อาหารมากถึงร้อยละ ๔๐ ถูกทิ้งไปจนเป็นปัญหาของเสียล้นเมือง เช่น ถุงพลาสติก กระดาษ โลหะ และแก้วที่ใช้หีบห่ออาหารนั้น


ข้อมูล : The Rotarian May 2015